Retail landscape change : โอกาสค้าปลีกไทยในบริบทใหม่


รูปแบบการดำเนินธุรกิจค้าปลีกของไทยมีแนวโน้มพัฒนาไปตามกระแสโลก ช่องทางการขายที่มีแนวโน้มเติบโตสูงและต้องจับตามองคือ การขายผ่านอินเตอร์เน็ตซึ่งคาดว่าจะเติบโตเฉลี่ยสะสมราว 8% ต่อปี ในอีก 5 ปีข้างหน้าตามการเพิ่มจำนวนของผู้ใช้อินเตอร์เน็ต ทำให้ผู้ค้าปลีกโดยเฉพาะรายใหญ่หันมาให้ความสำคัญกับการขายสินค้าออนไลน์เป็นช่องทางเสริมมากขึ้น ขณะเดียวกันการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของผู้ใช้บริการ social network ก็ทำให้มีการสื่อสารและทำการตลาดกับลูกค้าผ่านช่องทางนี้ด้วยอีกทางหนึ่ง

แนวโน้มความต้องการสินค้าเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ? ความต้องการ ขึ้นกับผู้บริโภคกลุ่มใหม่ที่จะเป็นกำลังซื้อสำคัญ คือ 

(1) ผู้สูงวัย (2) ครัวเรือนขนาดเล็ก และ (3) ผู้มีรายได้ระดับปานกลางขึ้นไป (มากกว่า 15,000 บาทต่อเดือน) ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ครัวเรือนขนาดเล็กซึ่งเป็นผู้อยู่อาศัยคนเดียวหรือคู่สมรสที่ไม่มีบุตรมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นมาก ซึ่งกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง แม้ว่าจะมีสัดส่วนต่อประชากรทั้งหมดเพียง 15% แต่มีสัดส่วนการใช้จ่ายต่อการบริโภคทั้งประเทศสูงถึงราว 1 ใน 4 ของการบริโภคทั้งหมดในปี 2009

สินค้าที่ผู้บริโภคกลุ่มใหม่มีความต้องการซื้อสูงขึ้นส่วนใหญ่อยู่ในหมวดสินค้าฟุ่มเฟือย เมื่อดูโครงสร้างการใช้จ่าย พบว่าสัดส่วนการใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคแทบไม่เปลี่ยน แต่ประเภทของสินค้าเปลี่ยนแปลงไป โดยผู้บริโภคกลุ่มใหม่มีความต้องการสินค้าฟุ่มเฟือยต่างๆ เพิ่มขึ้นมาก ได้แก่ สินค้าจำพวกวิตามินและยาบำรุง สินค้าพักผ่อนหย่อนใจ ตลอดจนสินค้าบันเทิง ตัวอย่างเช่น กลุ่มผู้มีรายได้ระดับปานกลางขึ้นไปมีสัดส่วนการใช้จ่ายสินค้าบันเทิงในหมวดคอมพิวเตอร์และนิตยสารมากกว่ากลุ่มผู้มีรายได้น้อยถึงเกือบ 4 เท่า

แล้วตลาดอยู่ที่ ไหน ? เราได้สร้างดัชนีความมั่งคั่ง (SCB EIC Wealth Index) และนำมาวิเคราะห์ร่วมกับองค์ประกอบอื่นๆ เพื่อพัฒนาเป็นแบบจำลองสาขาของธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ โดย Wealth Index อิงจาก 3 ปัจจัยหลักคือ 1) เงินฝาก 2) การครอบครองรถยนต์ และ 3) ราคาประเมินที่ดิน ซึ่งเป็นปัจจัยที่สะท้อนกำลังซื้อของประชากรแต่ละจังหวัดได้ดีกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดต่อหัว
นอกจากนี้ ยังมีองค์ประกอบอื่นๆ ได้แก่ความหนาแน่นของประชากร ซึ่งมีความสำคัญต่อการตั้งสาขาของธุรกิจค้าปลีกทุกประเภท โดยเฉพาะไฮเปอร์มาร์เก็ต ขณะที่ จำนวนห้องพักของโรงแรมเป็นปัจจัยเสริมต่อการเติบโตของสาขาของธุรกิจห้างสรรพสินค้า

รูปแบบการขยายสาขาของไฮเปอร์มาร์เก็ตมีแนวโน้มเป็นการเพิ่มจำนวนแห่งในจังหวัดที่มีอยู่แล้ว เนื่องจากสาขาของไฮเปอร์มาร์เก็ตค่อนข้างครอบคลุมเกือบทั่วประเทศ แต่ยังมีบางจังหวัดที่มีศักยภาพทั้งในแง่ความหนาแน่นของประชากรและความมั่งคั่งสูง จังหวัดที่เป็นโอกาสในการขยายสาขาไฮเปอร์มาร์เก็ตเพิ่มเติม คือ ภูเก็ต เชียงใหม่ ตรัง จันทบุรี ระยอง สงขลา ชลบุรี สตูล ขอนแก่น และอยุธยา


แต่ธุรกิจค้าปลีกประเภทห้างสรรพสินค้าและร้านค้าวัสดุก่อสร้างและสินค้าตกแต่งบ้านจะเป็นในลักษณะของการไปเปิดสาขาใหม่ในจังหวัดที่ยังไม่มี นอกจากปัจจัยด้านความหนาแน่นของประชากรและความมั่งคั่งแล้ว จำนวนห้องพักโรงแรม และการใช้ไฟฟ้ายังเป็นปัจจัยเสริมที่มีผลต่อการเปิดสาขาของธุรกิจค้าปลีกประเภทเหล่านี้ จังหวัดที่เป็นโอกาสในการเปิดสาขาเพิ่มของห้างสรรพสินค้า คือ ระยอง สุราษฎร์ธานี กระบี่ ประจวบคีรีขันธ์ และพิษณุโลก สำหรับจังหวัดที่ธุรกิจร้านค้าวัสดุก่อสร้างและสินค้าตกแต่งบ้านมีโอกาสจะไปเปิดได้คือ จันทบุรี ตรัง ลพบุรี ฉะเชิงเทรา และเชียงราย


แต่การพิจารณาทำเลเปิดสาขาธุรกิจค้าปลีกยังต้องดูปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วย ทั้งในแง่ต้นทุนที่ดินและภูมิศาสตร์ สาธารณูปโภค และทำเลที่เหมาะสมในการบริหารต้นทุนจัดการทั้งด้านขนส่งและสินค้าคงคลัง ตลอดจนวิเคราะห์ประเภทสินค้าที่จะนำมาวางขายในพื้นที่ต่างๆ เพื่อตอบสนองความต้องการที่แตกต่างกันในแต่ละจังหวัด และเพื่อเพิ่มความสามารถในการทำกำไร

 

ฉบับภาษาไทย | Download english version

 

ที่มา : https://www.scbeic.com

Sunday the 1st. Custom text here

ติดต่อสถาบัน SMI โทร:0-2345-1059 | แฟกซ์:0-2345-1108 | อีเมล์ : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. เว็บไซต์ : http://www.smi.or.th
© Copyright 2011 | SMALL & MEDIUM INDUSTRIAL INSTITUTE (SMI) | All rights reserved.

. Best online poker sites - All rights reserved.