กูรูชี้ช่องปั้นแบรนด์อาเซียน พัฒนาศักยภาพแข่งขัน-ต่อยอดเพิ่มมูลค่า
บริษัทเจดับบลิวที เอเชียแปซิฟิก จับมือบริษัทเอ ที เคียร์นีย์ ออกรายงานเกี่ยวกับธุรกิจ-ผู้บริโภคอาเซียนล่าสุด "Countdown to 2015 : Creating ASEAN Champion" เผยผู้บริโภคอาเซียนตระหนักรู้เรื่องแบรนด์สินค้าที่ผลิตจากอาเซียนระดับต่ำ แนะให้ผู้ประกอบการไทยเน้นสร้างแบรนด์คู่ยุทธศาสตร์ควบรวมกิจการในอาเซียน
รายงานดังกล่าวระบุว่า ผู้บริโภค 2,400 คน ในประเทศไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ มีความรู้ความเข้าใจในตัวสินค้า และตระหนักรู้เกี่ยวกับแบรนด์สินค้าที่ผลิตจากอาเซียนในระดับต่ำ
นายบ็อบ เฮคเคิลแมน ประธานกรรมการบริหาร บริษัทเจดับบลิวที ประจำภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระบุว่า "ในภาพรวมประเทศไทยมีการเน้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมากเกินไป ในขณะที่ความเชื่อมั่นต่อผลิตภัณฑ์ของไทยยังมีน้อย ดังนั้นการปั้นแบรนด์ไทยจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจไทยอยู่รอดหลังจากเปิดประชาคมอาเซียน"
นายเฮคเคิลแมนกล่าวว่า การสร้างแบรนด์อย่างเดียวไม่เพียงพอต่อการพัฒนาศักยภาพการแข่งขันทางธุรกิจ ภาคธุรกิจควรที่จะซื้อหรือจัดจ้างบุคลากรที่มีความรู้ในการรุกตลาด วิทยาการต่าง ๆ ตลอดจนเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าควบคู่ด้วย ขณะเดียวกันบริษัทต่าง ๆ ในไทยก็ต้องศึกษาตัวเองให้ถ่องแท้เสียก่อนที่จะรุกตลาดอาเซียน โดยจะต้องมีการเชื่อมโยงกันทั้งในระดับภูมิภาคด้วย ทั้งนี้บริษัทจะต้องปั้นแบรนด์ในระดับภูมิภาคเพื่อเชื่อมโยงกับลูกค้า รวมถึงต้องเตรียมแผนธุรกิจระดับภูมิภาคอีกด้วย
ด้านนายซูน จยี ฉัว หุ้นส่วนบริหารบริษัทเอ ที เคียร์นีย์ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า นักธุรกิจต้องมีความเข้าใจตนเองก่อนที่จะเข้าสู่ตลาดอาเซียน ซึ่งปัจจุบันแม้แต่บริษัทขนาดใหญ่ของไทยยังมีความเข้าใจเพื่อนบ้านในระดับต่ำ แม้ว่าในระยะ 2 ปีที่ผ่านมานี้ รัฐบาลไทยพยายามกระตุ้นให้ทุกฝ่ายรับรู้เกี่ยวกับประชาคมอาเซียน โดยเฉพาะเสาด้านเศรษฐกิจ แต่บรรดานักธุรกิจ รวมไปถึงคนทั่วไปยังรับรู้เกี่ยวกับอาเซียนในระดับต้น ๆ เท่านั้น
นางสาวนิ่มนวล ผิวทองงาม ผู้อำนวยการศูนย์ยุทธศาสตร์อาเซียน จากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวแนะว่า หลาย ๆ บริษัทห้ามเพิกเฉยต่อการมาถึงของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ปัจจุบันบริษัทหลายแห่งไม่เข้าใจว่าเออีซีคืออะไร รวมไปถึงกรอบความคิดของบริษัทหลายแห่งที่ยังไม่กล้าลงทุนนอกประเทศ
"แม้จะมีการจัดงานสัมมนาเกี่ยวกับเออีซีมาก แต่มักไม่ค่อยมีหน่วยงานใดที่ชี้ทางว่าเกิดเออีซีแล้วภาคธุรกิจจะต้องเตรียมตัวอย่างไร หากยังมีความคิดดึงดันว่าเออีซีหรือภาพใหญ่ไปถึงกรอบการค้าเสรีต่าง ๆ จะสร้างผลเสียให้กับไทยอยู่ ก็จะทำให้นักลงทุนไทยไม่มีความพร้อม และเสียเปรียบต่อต่างชาติในที่สุด" นางสาวนิ่มนวลกล่าว
นอกจากนี้รายงานดังกล่าวยังแนะนำถึงวิธีการที่จะสามารถทำให้นักธุรกิจสามารถย่นระยะเวลาในการเจาะตลาดในต่างประเทศได้อย่างมีศักยภาพยิ่งขึ้น โดยเห็นว่าควรใช้กลยุทธ์อย่างการควบรวมกิจการ หรือ M&A (Mergers and Acquisitions)
นายซูน จยี ฉัวระบุว่า การควบรวมกิจการโดยการเข้าซื้อกิจการข้ามประเทศจะเกิดประโยชน์ได้เร็วกับนักลงทุน เพราะเป็นวิธีที่นักลงทุนจะไม่เสียเวลาไปกับการตั้งแบรนด์ใหม่ เพราะการตั้งแบรนด์ใหม่เพื่อให้เป็นที่รู้จักในต่างประเทศนั้นเป็นสิ่งที่ยากและใช้เวลานาน
ด้านนายพรชัย ปัทมินทร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายธุรกิจขนาดใหญ่ ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวถึงการใช้กลยุทธ์การควบรวมกิจการของบริษัทที่ขยายสาขาไปทั่วภูมิภาคว่า ซีไอเอ็มบีมีการขยายฐานธุรกิจสู่ภูมิภาค เนื่องจากตลาดในมาเลเซียเล็กเกินไป จึงมีการขยายสู่อินโดนีเซียโดยนำเอาการควบรวมกิจการธนาคารนิอากา มาเป็นซีไอเอ็มบี นิอากา
นายพรชัยระบุว่า ยุทธศาสตร์การขยายธุรกิจสู่อาเซียนของหลาย ๆ บริษัทก็ทำในลักษณะเดียวกันกับก่อนที่เข้าไปในประเทศจีน ช่วงเปิดประเทศเต็มตัวแล้ว ขอแนะนำว่าหลาย ๆ บริษัทจำเป็นต้องพัฒนาตัวเองให้แข็งแกร่งในไทยก่อน จึงจะรุกไปทำธุรกิจในประเทศเพื่อนบ้าน
ขอขอบคุณแหล่งที่มา