สรุปประเด็น CEO Forum-Productivity On Tour “โตอย่างมั่นใจ ไปได้ไกล กับผลผลิตที่ยั่งยืน” จ.นครปฐม


 

สรุปประเด็นการประชุมระดมสมองระดับผู้บริหารนัดพิเศษ
Productivity On Tour โตอย่างมั่นใจ ไปได้ไกล กับผลผลิตที่ยั่งยืน
วันพฤหัสบดี 16 พฤษภาคม 2556
ณ ห้องไพลิน โรงแรมสามพรานริเวอร์ไซด์ จ.นครปฐม
.................................................................................................................

 เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2556 สถาบันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอุตสาหกรรมการผลิต (SMI) ร่วมกับ ฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC) จัดสัมมนา Productivity on tour “โตอย่างมั่นใจ ไปด้วยกัน ไปได้ไกล กับผลิตผลที่ยั่งยืน” ณ โรงแรมสามพราน ริเวอร์ไซด์ จ.นครปฐม 

  • วัตถุประสงค์

รับฟังข้อมูล ประเด็นปัญหาของสมาชิก SMEs ในระดับภูมิภาคเพื่อนำไปสู่แนวทางในการแก้ไขปัญหาและเป็นข้อมูลพื้นฐานในการจัดทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับสมาชิก SMEs ในจังหวัดนครปฐมและจังหวัดใกล้เคียง

  • CEO Forum (ประชุมระดมสมองระดับผู้บริหารนัดพิเศษ)

มีผู้ประกอบการที่อยู่ในภาคการผลิต การค้า และบริการ ในจังหวัดนครปฐมและจังหวัดใกล้เคียงได้ร่วมประชุมระดมสมองระดับผู้บริหารนัดพิเศษ จำนวน 30 คน เพื่อประชุมหารือถึงประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในจังหวัดนครปฐมและแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกัน

  • ประเด็นปัญหาที่พบ

การประชุมระดมสมองในครั้งนี้ ได้มีการหารือถึงประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในจังหวัดนครปฐม ซึ่งปัญหาที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ประสบปัญหา ได้แก่


1. ปัญหาแรงงาน
1.1 การขาดแคลนแรงงาน
ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาเป็นระยะเวลานาน สถานประกอบการบางแห่งแก้ปัญหาโดยการใช้แรงงานต่างด้าว แต่สำหรับในสถานประกอบการที่ใช้เครื่องจักรเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูงก็มีความจำเป็นที่จะต้องเป็นแรงงานในประเทศ เนื่องจากจะต้องเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีหรือคอมพิวเตอร์ให้เกิดความชำนาญและเกิดทักษะในการใช้เครื่องจักร
ที่ประชุมเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาเบื้องต้น คือ การพัฒนาแรงงานที่ไร้ฝีมือให้แรงงานมีฝีมือ มีทักษะในการทำงาน และให้ค่าตอบแทนแรงงานเพิ่มขึ้นเมื่อแรงงานได้รับการพัฒนาฝีมือแรงงาน


1.2 มีการเคลื่อนย้ายแรงงาน
เนื่องจากจังหวัดนครปฐมส่วนใหญ่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมการผลิตซึ่งจำเป็นต้องใช้แรงงานจำนวนมาก จึงทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายกำลังการผลิตในระหว่างอุตสาหกรรมเดียวกัน และระหว่างต่างอุตสาหกรรม สาเหตุที่ทำให้แรงงานมีการเคลื่อนย้ายแรงงานนั้นมาจาก ความแตกต่างทางด้านอัตราค่าจ้างแรงงาน หากโรงงานอุตสาหกรรมให้ผลตอบแทนที่มากกว่าแรงงานก็จะมีการเคลื่อนย้ายไปยังโรงงานนั้น และบางสถานได้มีการโน้มน้าวให้ลูกจ้างที่มีทักษะแรงงานหรือมีความเชี่ยวชาญในการใช้เทคโนโลยีที่ใกล้เคียงกันให้ไปทำงานยังโรงงานของตัวเอง โดยให้ผลตอบแทนที่มากกว่า โดยซึ่งผู้ประกอบการในจังหวัดนครปฐมได้แจ้งว่าเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมานาน
ที่ประชุมเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาเบื้องต้น คือ การให้ผลตอบแทนให้สอดคล้องตามความเหมาะสม เช่น การทำงานล่วงเวลา (โอ-ที) และการให้ผลตอบแทนตามหลักเกณฑ์ของภาครัฐ


1.3 การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต
สืบเนื่องจากการปรับค่าจ้างเป็น 300 บาท ผู้ประกอบการส่วนใหญ่แจ้งว่าค่าจ้างแรงงานที่ผู้ประกอบการจ่ายค่าตอบแทนให้นั้นมากกว่า 300 บาท และมีการปรับค่าจ้างเพิ่มขึ้นก่อนที่ภาครัฐจะปรับขึ้นค่าจ้างแรงงาน
สาเหตุที่ต้องจ่ายค่าจ้างมากกว่า 300 บาท นั้น อันเนื่องมาจากต้องการให้สถานประกอบการของตนดำเนินการผลิตได้อย่างต่อเนื่อง
สิ่งที่ผู้ประกอบการประสบปัญหา คือ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ด้วยสาเหตุที่ว่าแรงงานขาดแรงจูงใจในการทำงานที่จะทำงานให้ได้ผลผลิตที่มากขึ้น มีผู้ประกอบการบางรายปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตโดยปรับเปลี่ยนเครื่องจักรที่ทันสมัยและได้ผลผลิตที่เพิ่มขึ้น
ที่ประชุมเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาเบื้องต้น โดยได้ชี้แจงแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเบื้องต้นให้แก่ผู้ประกอบการทราบ ได้แก่


1) การใช้เครื่องจักรที่ทันสมัย เครื่องจักรบางประเภทได้มีการปรับปรุงด้านเทคโนโลยีในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต บางประเภทได้ปรับลดด้านระยะเวลาหรือลดต้นทุนวัตถุดิบ หรือบางประเภทได้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไปควบคู่กับการลดต้นทุน ซึ่งถือได้ว่าเป็นข้อดีของการใช้เครื่องจักรที่ทันสมัย


2) การปรับปรุงเครื่องจักรการผลิต เช่น การปรับเปลี่ยนระบบหรือการใช้อุปกรณ์บางประเภทที่ให้ประสิทธิภาพการผลิตที่มากกว่า


3) การนำระบบ Lean มาประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต


4) ปรับเปลี่ยนแนวคิดในการทำงาน เช่น การจ่ายค่าแรงตามชิ้นงาน ซึ่งจะทำให้ได้จำนวนชิ้นงานที่มากขึ้น


2. ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น “ต้นทุน”
เป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อการผลิตของผู้ประกอบการ ซึ่งต้นทุนที่ผู้ประกอบการประสบจะแบ่งออกเป็นส่วน 2 ส่วน คือ 1) ต้นทุนคงที่ เป็นต้นทุนที่เกิดขึ้นเมื่อผู้ประกอบการมีการปรับเปลี่ยนวิธีหรือกระบวนการผลิต เช่น การปรับเปลี่ยนเครื่องจักร ในการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะขอสินเชื่อกู้ยืมเงินลงทุนจากสถาบันการเงิน ซึ่งจะเป็นต้นทุนที่มีกรอบระยะเวลาให้กับผู้ประกอบการ 2) ต้นทุนผันแปร คือ ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นระหว่างการผลิต โดยส่วนใหญ่เป็นค่าวัตถุดิบและค่าสาธารณูปโภค เช่น ประปา ไฟฟ้า มีผู้ประกอบการแจ้งว่าทางการไฟฟ้าจังหวัดนครปฐมได้มาติดตั้งมิเตอร์ไฟใหม่ให้ ช่วยให้ปรับลดค่าไฟฟ้าลงได้ประมาณ 5% ซึ่งการปรับเปลี่ยนมิเตอร์ไฟใหม่ได้ทำให้ต้นทุนผู้ประกอบการลดลงในภาพรวมต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการที่มากเป็นอันดับ 1 คือ ค่าจ้างแรงงาน, อันดับ 2 คือ ค่าเสื่อมราคาของเครื่องจักร และอันดับ 3 คือ ค่าไฟฟ้า


3. การเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาท
จากการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาทที่แข็งค่าตั้งแต่ต้นปี ทำให้ส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศโดยเฉพาะในรูปของเงินดอลลาร์สหรัฐ การเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาทมีผลต่อการรับคำสั่งซื้อ (การตกลงราคา) และการแลกเปลี่ยนเงินในมูลค่าของเงินบาทของผู้ประกอบการ ทำให้กำไรและรายได้ที่ผู้ประกอบการได้รับลดลงและมีบางรายที่ประสบกับการขาดทุนจากมูลค่าอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทแต่ก็จำเป็นต้องแลกเปลี่ยน เนื่องจากจะต้องนำเงินทุนมาใช้จ่ายเพื่อหมุนเวียนในอุตสาหกรรมของตนเอง
ที่ประชุมเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาเบื้องต้น โดยสถาบัน SMI ได้แจ้งว่าสถาบันได้มีการจัดสัมมนา TFEX ซึ่งเป็นการให้ความรู้ในการจัดการค่าเงินบาทซึ่งเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการจัดการความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน


4. ความเหมาะสมด้านหลักเกณฑ์ของทางภาครัฐกับลักษณะการผลิตจริงของอุตสาหกรรม
ความแตกต่างทางด้านการผลิตของแต่ละอุตสาหกรรม กับหลักเกณฑ์หรือข้อบังคับ
เบื้องต้นของทางภาครัฐหรือกฎกระทรวง ผู้ประกอบการเห็นว่าไม่มีความสอดคล้องกับการผลิตจริง อุตสาหกรมการผลิตบางประเภทก็มีความเหมาะสมและควรที่จะปฏิบัติตาม แต่การผลิตบางประเภทก็ไม่เหมาะสม อาทิ แสงสว่างในโรงงาน ผู้ประกอบการได้แจ้งว่าการผลิตของผู้ประกอบการส่วนใหญ่เป็นเครื่องจักรและใช้คอมพิวเตอร์ในการควบคุม จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้แสงสว่างตามกฎที่กระทรวงกำหนดซึ่งทำให้เกิดความสิ้นเปลืองกระแสไฟฟ้า อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการได้แจ้งว่าตนได้ปฎิบัติตามกฏเกณฑ์ตามที่รัฐกำหนดไว้


5. การเข้าถึงโครงการให้ความช่วยเหลือของภาครัฐ
ยังมีผู้ประกอบการอีกบางกลุ่มไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารการให้ความช่วยเหลือของภาครัฐ เช่น โครงการฝึกอบรมตามที่หน่วยงานภาครัฐจัดขึ้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิต การบริหารการจัดการ ฯลฯ เนื่องมาจากผู้ประกอบการบางรายไม่ได้เป็นสมาชิกหรือไม่เคยติดต่อกับหน่วยงานของภาครัฐ จึงอาจทำให้สูญเสียโอกาสความสามารถในการพัฒนาหรือยกระดับประสิทธิภาพในการผลิต


6. ขาดทัศนคติที่ดีระหว่างผู้ประกอบการและลูกจ้าง
สถานประกอบการบางแห่งมีความเข้าใจหรือทัศนะคติที่ดีต่อเป้าหมายของการดำเนินกิจการไม่ตรงกันระหว่างผู้ประกอบการและลูกจ้าง โดยผู้ประกอบการมีความต้องการรายรับกำไรสูงสุดและลูกจ้างก็มีความต้องการค่าจ้างสูงสุดเช่นกัน แต่เนื่องด้วยลูกจ้างได้รับค่าจ้างที่ลูกจ้างคิดว่าอยู่ในระดับที่น่าพอใจแล้วและไม่ต้องการทำงานเพิ่มขึ้น ซึ่งมีผลต่อการเพิ่มผลิตภาพการผลิตของกิจการ ตลอดจนการปรับปรุงและพัฒนาในส่วนอื่นๆ ของกิจการ

จากการประชุมระดมสมองระดับผู้บริหารนัดพิเศษ หรือ CEO Forum ในครั้งนี้ สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMI) ภายใต้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC) ขอขอบคุณผู้ประกอบการที่เข้าร่วมประชุมและให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ เพื่อนำไปสู่แนวทางในการแก้ไขปัญหาและเป็นข้อมูลพื้นฐานเบื้องต้นในการจัดทำกิจกรรมทางวิชาการด้านอื่นๆ ในลำดับต่อไป

สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMI)
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

ดาวน์โหลดเอกสาร PDF : คลิก

Sunday the 1st. Custom text here

ติดต่อสถาบัน SMI โทร:0-2345-1059 | แฟกซ์:0-2345-1108 | อีเมล์ : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. เว็บไซต์ : http://www.smi.or.th
© Copyright 2011 | SMALL & MEDIUM INDUSTRIAL INSTITUTE (SMI) | All rights reserved.

. Best online poker sites - All rights reserved.