สรุปกิจกรรมโครงการ Workshop สัญจร จังหวัดชัยนาท
เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2556 สถาบันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอุตสาหกรรมการผลิต (SMI) ภายใต้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมกับ สำนักโลจิสติกส์ กรมอุสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม จัดสัมมนาโครงการ Workshop สัญจรขยายผลความรู้ด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน ภาคอุตสาหกรรมเพื่อความเข้มแข็งทางธุรกิจ โดยคุณรุ่งรัตน์ ประภาศิริกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดชัยนาท กล่าวต้อนรับคณะกรรมการและผู้ประกอบการ และคุณพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นผู้กล่าวเปิดการจัดอบรมและจัด Workshop ระหว่างวันที่ 6-7 มิถุนายน 2556 ณ โรงแรมมนตรี จ.ชัยนาท
การขยายผลความรู้ทางด้านโลจิสติกส์ นั้น สถาบันฯ ได้เชิญวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชนมาบรรยายให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการ ดังนี้
- การนำความรู้เกี่ยวกับโลจิสติกส์และซัพพลายเชน มาบริหารการจัดการในองค์กร
คุณมงคล พันธุโกมล ได้กล่าวถึงหลักสำคัญของการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน หมายถึง “การจัดการอย่างมีระบบเพื่อเพิ่มความสามารถของสถานประกอบการในการขายและส่งมอบสินค้าให้ได้ตามความต้องการของผู้ซื้อด้วยต้นทุนที่เหมาะสม”
เริ่มจาก การเคลื่อนย้ายวัตถุดิบจากซัพพลายเออร์ไปสู่การจัดเก็บและเคลื่อนย้ายวัตถุดิบในโรงงาน และส่งไปผลิต เมื่อเข้าสู่กระบวนการผลิตจนเป็นสินค้าเรียบร้อยแล้วจะนำส่งไปยังสถานที่ที่จัดเก็บและเคลื่อนย้ายสินค้าภายในโรงงาน และท้ายสุด คือ การกระจายสินค้าเพื่อให้สินค้าไปถึงผู้บริโภค
ซึ่งในแต่ละขั้นตอนจะต้องมีการเชื่อโยงอย่างเป็นระบบ เช่น การเชื่อมโยงในระดับอุตสาหกรรมการผลิตและการค้าได้ โดยเริ่มต้นจาก อุตสาหกรรมต้นน้ำ อุตสาหกรรมกลางน้ำ และอุตสากรรมปลายน้ำ ซึ่งถือได้ว่าเป็นสินค้าขั้นสุดท้ายหรือ Final Good ก่อนที่จะส่งสินค้าไปยังศูนย์กระจายสินค้า และส่งต่อไปยังผู้ค้าส่ง สู่ศูนย์กระจายสินค้า และถึงมือผู้บริโภค
ข้อดีของการจัดการโลจิสติกส์ ช่วยให้ต้นทุนในการดำเนินการลดลง ซึ่งหมายถึงรายได้เพิ่มขึ้นหรือกำไรเพิ่มขึ้นประกอบกับการจัดเป็นระบบทำให้ลดระยะเวลาในการดำเนินงานได้อีกด้วย
- Ø Best Practies Sharing: กรณีศึกษาบริษัทฟาสเทคโน จำกัด โดย คุณกรภัคร์ มีสิทธิตา ผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้ ซึ่งได้รับความนิยมจากตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ เช่น ประเทศอิตาลี ฝรั่งเศส เยอรมนี สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น
บริษัทฟาสเทคโน จำกัด ดำเนินธุรกิจในปี 1987 ด้วยการเป็นผู้รับเหมาตกแต่งภายใน โดยใช้วัสดุที่ทำจากไม้ ผลิตภัณฑ์ของบริษัทฟาสเทคโน ได้รับความสนใจจากตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะเฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากไม้ไผ่มีการเติบโตอย่างมากในช่วง 3-5 ปี ที่ผ่านมา จุดเด่นของไม้ไผ่ให้ความแข็งแรงเช่นเดียวกันกับไม้ทั่วๆ ไปและให้ความรู้สึกที่ความเป็นธรรมชาติซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดและทำให้บริษัทฟาสเทคโน จำกัด ได้รับรางวัลต่างๆ มากมาย อาทิ ได้รับประกาศนียบัตรรับรองวัสดุที่คิดขึ้นใหม่ จากศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ Thailand Creative & Design Center (TCDC) และ Material ConneXion Bangkok, Prime Minster 2010 Industry Award, สุดยอด SMEs แห่งชาติประจำปี 2552 ฯลฯ
ในการจัดการคุณกรภัคร์ ได้อธิบายถึงการบริหารการก่อนและหลังที่จะมีการจัดการด้านโลจิสติกส์ และทำให้เห็นถึงปัญหาก่อนที่จะมีการจัดการด้านโลจิสติกส์ อาทิ
- ปัญหาด้านคลังสินค้า เช่น ไม่มีการควบคุมการเบิก-จ่าย, สินค้าวางปะปนกัน, ไม่มีป้ายระบุสินค้าที่ชัดเจน, ไม่มีระบบการบริหารสต๊อก
- ปัญหาด้านเอกสาร เช่น ไม่มีการจัดทำ Stock card, การบันทึกข้อมูลไม่ชัดเจน, เอกสารซ้ำซ้อน
- และข้อดีของการจัดการดังกล่าว ได้มีการนำปัญหามาแก้ไขซึ่งทำให้มีแผนสำหรับการปรับปรุงและพัฒนาในด้านต่างๆ เช่น การจัดการสินค้าคงคลัง การจัดทำระบบเอกสาร โดยมีการจัดอบรมพนักงาน การกำหนดมาตรฐานการทำงาน และการรวบรวม วิเคราะห์ปัญหาจากข้อมูลในอดีต
นอกจากนี้ทางบริษัทฯ ได้วางแผน “ปฎิบัติการ ต้นไม้แห่งความสำเร็จ” โดยกำหนดเป้าหมายระดับองค์กร กำหนดกลยุทธ์ และกำหนดแผนงาน ซึ่งเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับการแข่งขันและการพัฒนาองค์กรอย่างเป็นรูปธรรม
- Ø Workshop 1 เป็นการแบ่งกลุ่มผู้เข้าร่วมอบรมกรอกแบบสอบถามวิเคราะห์ “การบริหารการจัดการในองค์กร” และการเขียน Action Plan โดยการทำ Workshop ดังกล่าวจะได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ
- Ø Workshop 2 เป็นการนำเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูลจากผู้แทนของบริษัท พร้อมรับฟังคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ
จากการนำเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูลของบริษัทที่ร่วมโครงการ Workshop สัญจร จังหวัดชัยนาท ในภาพรวมพบว่า บริษัทได้เห็นถึงปัญหาในการดำเนินงานของบริษัท อาทิ การจัดซื้อวัตถุดิบ ซึ่งวัตถุดิบทีซื้อมาไม่ได้มาตรฐาน การจัดส่งเป็นไปอย่างล่าช้า ทำให้ส่งผลกระทบต่อหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น การผลิต การบริหารสินค้าคงคลัง ฝ่ายบัญชี การขนส่ง, ปัญหาการสื่อสารกับหน่วยงานภายนอก ที่ทำให้เกิดความเข้าใจไม่ตรงกัน
ปัญหาดังกล่าวนำไปสู่การแก้ไขปัญหาเบื้องต้น โดยเริ่มต้นจากการวิเคราะห์ปัญหาและสาเหตุ ว่าควรจะแก้ไขปัญหาอย่างไร ซึ่งอาจจะเ ริ่มต้นจากวิธีการดำเนินงาน นำไปสู่การทดรอง การประเมินผล หากพบข้อผิดพลาดก็ควรหาวิธีการปรับปรุงแก้ไข นอกจากนี้ควรมีการจัดทำแผนงานร่วมกัน ในฝ่ายที่เกี่ยวข้อง อาทิเช่น ฝ่ายขาย ฝ่ายผลิต และฝ่ายจัดซื้อ เพื่อให้แต่ละฝ่ายมองเห็นถึงการทำงานในภาพรวมและผลกระทบที่เกิดขึ้นจากฝ่ายหนึ่งส่งต่อไปอีกฝ่ายหนึ่ง
นอกจากนี้ควรจัดทำตัวชี้วัดที่สามารถระบุระยะเวลา หรือปริมาณ ว่ามีจำนวนเท่าใด เพิ่มขึ้นหรือลดลงเท่าใด เพื่อให้การดำเนินงานบรรลุตามเป้าหมายตามแผนงานที่กำหนดไว้
- Ø เยี่ยมชมบริษัท โนเบิล เอ็นซี จำกัด
ชื่อโรงงาน : บริษัท โนเบล เอ็นซี จำกัด
ประกอบกิจการ : ผลิตเคมีภัณฑ์
เลขที่ตั้ง : 232 หมู่ที่ 1 ตำบล โพนางดำออก
อำเภอ สรรพยา จังหวัดชัยนาท
การก่อตั้ง เมื่อ 2005 เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างนักลงทุนสัญชาติไทย 51% และญี่ปุ่น 49% โดยได้รับการส่งเสริมจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) สำหรับตลาดหลัก ได้แก่ ยุโรป สหรัฐอเมริกา เอเชีย อเมริกาใต้ แคนาดา อาฟริกาใต้
บริษัท โนเบล เอ็นซี จำกัด เป็นบริษัทฯ ผู้ผลิตสารเคมี “ไนโตรเซลลูโลส” คุณภาพสูง ซึ่งเป็นสารตั้งต้นที่ใช้เป็นส่วนผสมกับสารเคมีอื่นๆ เช่น ซึ่งเป็นสารตั้งต้นที่ใช้เป็นส่วนผสมในกระบวนการผลิตหมึกพิมพ์เพื่อให้หมึกพิมพ์มีการยึดติด เป็นสารเคลือบผิวเฟอร์นิเจอร์ไม้ เคลือบหนัง
วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต กระดาษ กรดไนตริก กรดซัลฟูริก แอลกอฮอล์ วัตถุดิบบางประเภทมีการนำเข้าจากต่างประเทศ เช่น กระดาษ นำเข้าจากสแกนดิเนเวีย การผลิตสารเคมีจำเป็นต้องมีความระมัดระวังเป็นอย่างมาก เนื่องจากวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตและสารเคมีที่ผลิตก่อให้เกิดการติดไฟได้ง่าย จึงจำเป็นต้องเก็บไว้ในที่ที่ปลอดภัย
ดาวน์โหลดเอกสาร PDF : คลิก