สรุปประเด็น CEO Forum-Productivity On Tour “โตอย่างมั่นใจ ไปได้ไกล กับผลผลิตที่ยั่งยืน” จ.กระบี่
สรุปประเด็นการประชุมระดมสมองระดับผู้บริหารนัดพิเศษ
Productivity On Tour โตอย่างมั่นใจ ไปได้ไกล กับผลผลิตที่ยั่งยืน
วันพฤหัสบดี 11 มิถุนายน 2556
ณ ห้องไพลิน โรงแรมสามพรานริเวอร์ไซด์ จ.กระบี่
.................................................................................................................
เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2556 สถาบันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอุตสาหกรรมการผลิต (SMI) ภายใต้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมกับ ฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC) จัดสัมมนา Productivity on tour “โตอย่างมั่นใจ ไปด้วยกัน ไปได้ไกล กับผลิตผลที่ยั่งยืน” ณ โรงแรม โรงแรมมาริไทม์ ปาร์ค แอนด์ สปา รีสอร์ท จ.กระบี่ โดยมี นายอุเทน ตัณตรีบูรณ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ กล่าวต้อนรับ, นายเกียรติ วิมลโสภา ผู้จัดการภาคลูกค้าขนาดใหญ่ สำนักงานภาคใต้ 1 กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงความร่วมมือ และกล่าวเปิดงานโดย นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยคุณสาวัน ตัน ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดกระบี่ ได้ร่วมแชร์ประสบการณ์ในช่วง Best Practice Sharing
วัตถุประสงค์การจัดสัมมนาในครั้งนี้เพื่อให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการSMEs ถึงแนวทางและประโยชน์ในการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต (Productivity) ให้สามารถลดต้นทุนการผลิตภายในองค์กร และรับฟังข้อมูล ประเด็นปัญหาของสมชิก SMEs ในระดับภูมิภาคเพื่อนำไปสู่แนวทางในการแก้ไขปัญหาและเป็นข้อมูลพื้นฐานในการจัดทำกิจกรรมต่างๆร่วมกับสมาชิก SMEs
งานสัมมนาในครั้งนี้มีผู้ประกอบการที่อยู่ในภาคการผลิต และบริการ ในจังหวัดกระบี่เข้าร่วมงานจำนวนมากกว่า 100 คน
ข้อมูลพื้นฐานด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม
ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดกระบี่
เมื่อพิจารณาจากข้อมูลผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัดกระบี่ (GPP) จะเห็นว่าอุตสาหกรรมภาคเกษตรเป็นภาคเศรษฐกิจสำคัญที่สร้างรายได้ให้กับประชาชนในจังหวัดเป็นอันดับ 2 รองจากอุตสหกรรมที่ไม่ได้อยู่ในภาคการเกษตร
จังหวัดกระบี่มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 2,942,880 ไร่ เป็นพื้นที่เพื่อการเกษตร 1,948,420 ไร่ หรือร้อยละ 66.21 โดยมีพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ 2 ชนิด คือยางพารา และปาล์มน้ำมัน นอกนั้นเป็นพื้นที่ปลูกไม้ผล และพืชผักต่าง ๆ จะเห็นได้ว่าจังหวัดกระบี่มีสัดส่วนการผลิตภาคเกษตรสูงที่สุด ทั้งในเชิงปริมาณผลผลิตและผลผลิตต่อไร่ และมีราคาค่อนข้างดี
อุตสาหกรรมที่สำคัญของจังหวัดกระบี่ ได้แก่
1. อุตสาหกรรมสกัดน้ำมันปาล์มดิบปัจจุบันจังหวัดกระบี่มีโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม จำนวน 21 โรง กำลังการผลิต 659 ตัน ปาล์มทะลายสด/ชั่วโมง หรือ 9,226 ตัน/วัน (1 วัน คิด 14 ชม.) หรือ 2.76 ล้านตันต่อปี (1 ปี คิด 300 วัน) ผลิตภัณฑ์ ผลพลอยได้ และของเสียหรือกากอุตสาหกรรมที่เกิดจากกระบวนการผลิต ได้แก่ น้ำมันปาล์มดิบ (crude palm oil) น้ำมันเมล็ดในปาล์ม (palm kernel oil) ทะลายปาล์มเปล่า (empty bunch) เส้นใย (fiber) กะลา (shell) น้ำเสีย และกากตะกอนน้ำมัน (cake decanter) ซึ่งของเสียที่เกิดขึ้นสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด (zero waste) เช่น ทะลายปาล์มเปล่า เส้นใย กะลา นำไปเป็นเชื้อเพลิงหม้อไอน้ำ น้ำเสีย นำมาผลิตแก๊สชีวภาพเพื่อผลิตไฟฟ้า และกากตะกอนน้ำมันนำมาผลิตปุ๋ยอินทรีย์
2. อุตสาหกรรมยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง
2.1 อุตสาหกรรมยางแผ่นรมควัน ปัจจุบันมีโรงงาน จำนวน 3 โรง กำลังการผลิต 72,100 ตัน/ปี ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตได้ทั้งหมดส่งออกต่างประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน และยุโรป
2.2 อุตสาหกรรมน้ำยางข้น ปัจจุบัน มีโรงงาน จำนวน 4 โรง กำลังการผลิต 102,000 ตัน/ปี ผลพลอยได้ คือ ยางสกิมเครปและยางสกิมบล็อก จำนวน 5,000 ตัน/ปี น้ำยางข้นจะส่งจำหน่ายโรงงานผลิตถุงมือแพทย์และถุงยางอนามัยในต่างจังหวัด ส่วนยางสกิมเครปและยาง สกิมบล็อกส่วนใหญ่จะส่งจำหน่ายต่างประเทศ
2.3 อุตสาหกรรมยางแท่ง STR ปัจจุบันมีโรงงานผลิตยางแท่ง STR จำนวน 1 โรง กำลังการผลิต 120,000 ตันต่อปี ยางที่ผลิตได้จะส่งจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อผลิตยางรถยนต์
3. อุตสาหกรรมไม้ยางแปรรูป อัด น้ำยาและอบแห้งไม้ ปัจจุบันมีโรงงานที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดกระบี่ จำนวน 16 โรง แต่มีการประกอบกิจการจริง จำนวน 10 โรงเท่านั้น เนื่องจากปัญหาวัตถุดิบขาดแคลน ไม้ยางพาราท่อนมีราคาสูง
ปาล์มน้ำมัน ในจังหวัดกระบี่มีพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันมากที่สุดในประเทศ และมีพื้นที่ปลูกเป็นอันดับ ๔ ของโลก ในจังหวัดกระบี่ มีพื้นที่ปลูก 891,243 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 45.75 ของพื้นที่การเกษตร ผลผลิตต่อไร่ เพิ่มขึ้นเป็น 3.30 ต้น/ไร่ ในปีพ.ศ. 2553 ซึ่งสูงกว่าปีที่ผ่านมาร้อยละ 1.23 จะเห็นได้ว่าศักยภาพในด้านระบบการผลิตของจังหวัดกระบี่สูง ซึ่งส่งผลให้ปริมาณผลผลิตและมูลค่ารวมของปาล์มน้ำมันเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
(ที่มา: ศูนย์ข้อมูลกลางจังหวัดกระบี่, สำนักงานจังหวัดกระบี่)
Best Practice Sharing :
ชื่อ: คุณสาวัน ตัน
ตำแหน่ง: ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดกระบี่
เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมภาคใต้ กรรมการและผู้จัดการ บริษัท ไทยอินโด ปาล์มออยล์ แฟคทอรี่ จำกัด
คุณสาวัน ตัน นักธุรกิจหญิงในจังหวัดกระบี่ ได้คลุกคลีอยู่ในแวดวงอุตสาหกรรมมายาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง และได้ริเริ่มนำวัสดุเหลือใช้จากโรงงานอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มไปผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อใช้ในโรงงาน จนกระทั่งปัจจุบันสามารถผลิตเพื่อจำหน่ายให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้อีกด้วย ซึ่งนอกจากช่วยลดการนำเข้าพลังงานไฟฟ้าแล้ว ยังเป็นแหล่งพลังงานทางเลือกในอนาคตได้อีกด้วย
แนวทางการพัฒนาของบริษัท ไทยอินโดปาล์มออยล์ แฟคทอรี่ จำกัด ที่ทำให้เติบโตมาจนถึงปัจจุบัน
ก่อนที่จะเป็น บริษัท ไทยอินโดปาล์มออยล์ แฟคทอรี่ จำกัด เมื่อ 40 ปีที่ผ่านมา เรามีเพียงโรงไม้ยางเล็กๆ และเราเป็นผู้จัดหาปาล์ม(ซัพพลายเออร์) ส่งไปให้ลูกค้าที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดตรัง เมื่อปี 2539 เป็นช่วงวิกฤต เราได้ขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน ขณะนั้นแต่เราก็มีความกังวลว่าเราจะได้สินเชื่อหรือไม่ เพราะเราต้องปรับโครงสร้างหนี้บริษัท แต่เมื่อได้เงินมาเราก็ไม่กล้าใช้เพราะขณะนั้นหลายบริษัทส่วนใหญ่ขาดสภาพคล่อง แต่ทางบริษัทเราก็มีความตั้งใจในการชำระหนี้ เราได้สร้างโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มและมีพนักงาน 50 กว่าคน ซึ่งเป็นพนักงานที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกระบี่รวมถึงพนักงานที่จบการศึกษาใหม่ซึ่งกำลังมีไฟมาช่วยเราทำงาน ซึ่งทุกคนก็มีความตั้งใจในหน้าที่การงานของตัวเอง จึงทำให้เราประสบความสำเร็จมาได้จนถึงปัจจุบัน
การเพิ่มประสิทธิภาพทางการผลิตให้กับธุรกิจปาล์มน้ำมัน ของบริษัท
ในช่วงแรกหลังจากที่เราได้สร้างโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม เราได้รับการสนับสนุนทางด้านข้อมูลและคำแนะนำจากหน่วยงานของภาครัฐ ขณะนั้นเรายังขาดความรู้ด้านเครื่องจักร เทคโนโลยี กฎระเบียบต่างๆ ที่เราจะต้องเกี่ยวข้อง ซึ่งเราก็ได้ติดต่อไปยังอุตสาหกรรมจังหวัด ถ้าเป็นเรื่องของตลาดว่าเราจะขายปาล์มน้ำมันให้กับใคร ตลาดของเราอยู่ที่ไหน เราก็ได้ติดต่อไปยังสำนักงานพาณิชย์จังหวัด อะไรที่เราอยากรู้เราก็ต้องถามกับหน่วยงานเฉพาะทางซึ่งจะทำให้เราเดินไปในทิศทางที่ถูกต้อง จนทำให้เราประสบความสำเร็จได้ระดับหนึ่ง
จากการที่เราเป็นสมาชิกในหน่วยงานที่สำคัญๆ เช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาชิกปาล์มน้ำมัน เช่นเดียวกันกับบริษัทอื่นๆ พวกเราได้ช่วยกันขับเคลื่อนอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน ซึ่งเราเป็นการขับเคลื่อนทั้งระบบ โรงงานสกัดปาล์มน้ำมันของเรามีการแข่งขันที่สูงขึ้นทั้งด้านคู่แข่งและราคา ซึ่งเราได้หันมามองการผลิตของโรงงานเรา ซึ่งทำให้เราเห็นถึงปัญหาของโรงงานปาล์มน้ำมันว่าอยู่ที่ “ของเสีย” ขณะนั้นได้มีบริษัท เอเซี่ยน น้ำมันปาล์ม จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทแรกที่ผลิตไบโอแก๊ส (ผลิตกระแสไฟฟ้า) และเป็นบริษัทนำร่องให้กับหลายๆ บริษัท ในการสร้างรายได้และผลกำไรกลับคืนสู่โรงงาน ในปัจจุบัน จังหวัดกระบี่เรามีโรงงานปาล์น้ำมันอยู่ 18 โรงงาน ที่สามารถผลิตไฟฟ้าจากของเสียแล้วขายให้กลับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคประมาณ 40% ของปริมาณการใช้ไฟฟ้าในจังหวัดกระบี่
กลยุทธ์ที่ทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ
การที่เราเติบโตขึ้นมาได้ในปัจจุบัน เราต้องไม่ลืมบุคคลที่อยู่ในบริษัทเราหรืออยู่รอบๆ บริษัทเราหรือที่โรงงานเรา เช่น พนักงานในบริษัท เราไม่ได้โตคนเดียว เราต้องดูแลบุคคลให้เหมือนคนในครอบครัวและทำงานกันเป็นทีมหรือที่เรียกว่า Team work ปัจจุบันบริษัทมีพนักงาน 100 กว่าคน รวม ถึงการดูแลคนที่อาศัยอยู่รอบบริเวณโรงงานด้วยเช่นกัน ซึ่งเราต้องดูแลเอาใจใส่สังคมที่อยู่รอบข้างเราเหล่านี้เพราะเขามีส่วนผลักดันที่ทำให้ธุรกิจของเราประสบความสำเร็จ
การแก้ไขปัญหาและอุปสรรค
ในการดำเนินธุรกิจ เราได้พบเจอกับปัญหาและอุปสรรคต่างๆ มากมาย แต่ด้วยอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันเราทำงานกันเป็นระบบทั้งในระดับจังหวัด ส่วนภูมิภาค และระดับประเทศ ถ้าหากผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันประสบปัญหาเราก็ได้คุยกัน และต้องขอขอบคุณภาครัฐที่ทำให้ผู้ประกอบการในจังหวัดกระบี่ ในระดับขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ที่ทำให้อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มเรามีความเข็มแข็ง
จุดแข็งของผู้ประกอบการปาล์มน้ำมันเราก็คือ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะเล่าปัญหาของตัวเองและหาทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน เราค่อนข้างโชคดีที่มีการร่วมมือกันและทำให้อุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันเราของเราประสบความสำเร็จ นอกจากอุตสาหกรรมการผลิตแล้วก็ยังมีส่วนทำให้อุตสาหกรรมอื่นๆ ประสบความสำเร็จอีกด้วย ซึ่งจังหวัดกระบี่ถือได้ว่าเป็นจังหวัดที่มีเศรษฐกิจหลักคือภาคการเกษตรที่มีรายได้อยู่ในลำดับต้นๆ ของประเทศ
หากมีผู้ประกอบการ SMEs หรือผู้สนใจที่อยากจะทำธุรกิจธุรกิจปาล์มน้ำมัน คุณสาวัน มีข้อแนะนำอะไรเป็นพิเศษ ต่อผู้ที่จะดำเนินธุรกิจนี้
เราก็อยากสนับสนุนนักธุรกิจรุ่นใหม่ๆ ไม่ว่าจะดำเนินธุรกิจอะไรก็ตาม อย่าไปมองว่าบุคคลที่ทำธุรกิจเดียวกันกับเรานั้นเป็นคู่แข่ง เราจะทำอะไรก็ควรคุยกัน แลกเปลี่ยนความคิดเป็นซึ่งกันและกัน เช่น อาจจะพูดคุยกันเรื่องของทำเลที่ตั้งว่ามีความสะดวกในการขนส่งหรือการเคลื่อนย้ายหรือปล่าว หรือวัตถุดิบที่ได้หากเพาะปลูกในบริเวณแถบนี้จะดีพอไหม แต่ถ้าคุณทำเองคนเดียวไม่ได้หารือกับคนที่ทำธุรกิจนี้อยู่ก่อนแล้ว คุณอาจจะประสบปัญหาในการดำเนินธุรกิจ เช่น คุณต้องหาข้อมูลการผลิตและหาวิธีแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง ซึ่งอาจทำให้คุณเสียเวลาในการแก้ปัญหาและอาจเพิ่มต้นทุนทางการผลิตให้กับธุรกิจของคุณ ดังนั้นไม่ว่าคุณจะดำเนินธุรกิจอะไรก็ตามเราควรมาพูดคุยหารือถึงแนวทางในการดำเนินธุรกิจ หรือการกำหนดเป้าหมายของอุตสาหกรรมร่วมกัน
Focus Group:
• CEO Forum การประชุมระดมสมองในครั้งนี้ ได้มีการหารือถึงประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในจังหวัดนครปฐม ซึ่งปัญหาที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ประสบปัญหา ได้แก่
1. ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการขึ้นค่าจ้างแรงงาน 300 บาท
จากการปรับค่าจ้างเป็น 300 บาท ผู้ประกอบการแจ้งว่าได้มีการปรับค่าจ้างแรงงานในช่วงปลายปี 2555 มีผลทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้นเฉลี่ยประมาณ 15% ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการบางรายปรับเปลี่ยนวิธีการจ้างงานจากรายวัน เป็นรายสัปดาห์ หรือเหมาจ่ายเป็นงานๆ ไป
2. การขาดแคลนแรงงาน
ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ซึ่งเป็นแรงงานในระดับไร้ฝีมือ สถานประกอบการบางแห่งแก้ปัญหาโดยการใช้แรงงานต่างด้าวซึ่งเป็นแรงงานพม่า และกัมพูชาในการแก้ปัญหาเบื้องต้นของผู้ประกอบการคือ พัฒนาแรงงานที่ไร้ฝีมือให้แรงงานมีฝีมือเพื่อที่จะสามารถให้เครื่องจักร หรือเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูง รวมถึงการจ้างทำงานนอกเวลา (Over time) เพื่อสร้างแรงจูงใจในการทำงานให้แก่ลูกจ้าง
แรงงานที่ผ่านการพัฒนาฝีมือแล้วจะได้รับค่าจ้างในระดับที่สูงกว่าปกติ แต่ก็ประสบปัญหากับการซื้อตัวแรงงานภายในระดับจังหวัด และจังหวัดใกล้เคียงโดยผ่านนายหน้า
3. ความรับผิดชอบของแรงงาน
ผู้ประกอบบางรายแจ้งว่า แรงงานไทยที่เป็นลูกจ้างผลิตให้กับตนเองขาดความรับผิดชอบต่อหน้าที่การงาน โดยเฉพาะงานที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เช่น ช่างเทคนิค หรือวิศวกร ซึ่งจะหาบุคลลากรมาทดแทนค่อนข้างยาก หากเป็นแรงงานในระดับที่ไร้ฝีมือผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะจ้างแรงงานต่างด้าวซึ่งมีความรับผิดชอบมากกว่า
4. การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต
ผู้ประกอบการบางรายได้มีการปรับเปลี่ยนเครื่องจักร โดยหันมาใช้เครื่องจักรที่ทันสมัย หรือเครื่องจักรที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าเพื่อทดแทนแรงงานที่ขาดแคลนและเพื่อคุณภาพและปริมาณการผลิตที่สูงกว่าเดิม เมื่อมีการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรผู้ประกอบการได้ประสบปัญหาด้านการซ่อมแซมหรือปรับปรุงเครื่องจักร เช่น การเปลี่ยนอุปกรณ์หรืออะไหล่ทดแทนของเดิม ซึ่งอุปกรณ์บางประเภทหาทดแทนได้ยาก และการซ่อมแซมในบางครั้งก็จำเป็นต้องหาช่างที่มีประสบการณ์ด้านเครื่องจักรในละแต่ประเภท
5. การแข่งขันจากตลาดต่างประเทศ
ผลิตภัณฑ์บางประเภทของผู้ประกอบการประสบปัญหาจากการแข่งขันจากตลาดต่างประเทศ เช่น อุตสาหกรรมกลุ่มเฟอร์นิเจอร์ ที่ประสบปัญหาจากการแข่งขันด้านราคาโดยเฉพาะจากตลาดจีน จึงทำให้มีการแข่งขันด้านราคาระหว่างผู้ส่งออกในประเทศด้วยกัน และการแข่งขันกันในระดับประเทศ
ดาวน์โหลดเอกสาร PDF : คลิก