สรุปผลงาน Productivity On Tour จังหวัดลำพูน
เมื่อวันอังคารที่ 25 มิถุนายน 2556 สถาบันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอุตสาหกรรมการผลิต (SMI) ภายใต้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมกับ ฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC) จัดสัมมนา Productivity on tour “โตอย่างมั่นใจ ไปด้วยกัน ไปได้ไกล กับผลิตผลที่ยั่งยืน” ณ ห้องประชุมสำนักงาน นิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จ. ลำพูน โดยมี คุณพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นผู้กล่าวเปิดงาน คุณเฉลิมพล แพร่-วัฒนะกุล ผู้จัดการภาค ธุรกิจขนาดย่อม ภาคกลางและเหนือ กลุ่มลูกค้าธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวต้อนรับลูกค้าธนาคารไทยพาณิชย์ และคุณนิวัฒน์ ตันติเกียรติ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดลำพูน กล่าวต้อนรับคณะผู้จัดงาน
วัตถุประสงค์การจัดสัมมนาในครั้งนี้เพื่อให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการSMEs ถึงแนวทางและประโยชน์ในการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต (Productivity) ให้สามารถลดต้นทุนการผลิตภายในองค์กร และรับฟังข้อมูล ประเด็นปัญหาของสมชิก SMEs ในระดับภูมิภาคเพื่อนำไปสู่แนวทางในการแก้ไขปัญหาและเป็นข้อมูลพื้นฐานในการจัดทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับสมาชิก SMEs
งานสัมมนาในครั้งนี้มีผู้ประกอบการที่อยู่ในภาคการผลิต และบริการ ในจังหวัดลำพูนเข้าร่วมงานจำนวน 60 คน
ข้อมูลพื้นฐานด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม
จังหวัดลำพูน เป็นจังหวัดที่มีโรงงานอุตสาหกรรม กระจายอยู่ทุกพื้นที่ของแต่ละอำเภอ โดยส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมืองลำพูน รองลงมา คือ อำเภอป่าซาง และอำเภอแม่ทา โดยทั้ง 3 อำเภอมีอาณาเขตติดต่อกัน และมีปัจจัยด้านวัตถุดิบในด้านการผลิต ด้านแรงงาน ด้านคมนาคมขนส่ง ที่เอื้ออำนวยต่อการลงทุน การลงทุนส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม ที่ต้องพึ่งพาวัตถุดิบและทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่นโดยเฉพาะวัตถุดิบทางด้านการเกษตร
อุตสาหกรรมที่สำคัญ
1. อุตสาหกรรมในภาคการเกษตร ประกอบไปด้วยเกษตรกรรม การล่าสัตว์ ป่าไม้ และการประมง ในปี 2554 ภาวะการผลิตอุตสาหกรรมเกษตรมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2553 คิดเป็นร้อยละ30 ส่วนใหญ่เป็นการประกอบกิจการประเภทการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร และการอบพืชผลทางการเกษตร เช่น ลำไย พริก กระเทียม ซึ่งเป็นวัตถุดิบทางการเกษตรหลักของจังหวัดลำพูน
2. อุตสาหกรรมนอกภาคการเกษตร ประกอบไปด้วยอุตสาหกรรม การขายส่ง การขายปลีก การซ่อมแซมยานยนต์ จักรยานยนต์ ของใช้ส่วนบุคคลและของใช้ในครัวเรือน ฯลฯ โดยในปี 2554 ภาวะการผลิตอุตสาหกรรมนอกภาคการเกษตรมีการขยายตัวลดลง จากปี 2553 คิดเป็นร้อยละ 16 ซึ่งเป็นผลมาจาก การที่ภาคอุตสาหกรรมมีการขยายตัวลดลงถึง ร้อยละ 49 อาจเนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมที่ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตในอุตสาหกรรม (ตารางที่ 1)
ตารางที่ 1: มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวม จังหวัดลำพูน
และจากข้อมูลจำนวนโรงงานอุตสาหกรรม ในเดือนมิถุนายน 2556 พบว่า มีจำนวนโรงงานอุตสาหกรรมในจังหวัดลำพูน 844 โรงงาน โดยประเภทอุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานมากที่สุด ได้แก่ อุตสาหกรรมการเกษตร มี 337 โรงงาน มูลค่าเงินลงทุน 6,482,634,995 บาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรมไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ 106 โรงงาน เงินลงทุน 274,393,774 บาท อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์และเครื่องเรือน 79 โรงงาน เงินลงทุน 152,124,900 บาท และอุตสาหกรรมอโลหะ 65 โรงงาน เงินลงทุน 7,531,072,066 บาท เป็นต้น (ตารางที่ 2)
Focus Group:
- CEO Forum การประชุมระดมสมองในครั้งนี้ ได้มีการหารือถึงประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในจังหวัดลำพูน ซึ่งเป็นผู้ประกอบการที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม หัตถอุตสาหกรรม เครื่องสำอางสมุนไพร อาหาร ยาและบริการขนส่ง โดยผู้ประกอบการดังกล่าวได้แสดงความคิดเห็นถึงปัญหาในภาคอุตสาหกรรมของตน สรุปได้ดังนี้
1. ประสิทธิภาพการผลิต (Productivity)
1.1 ต้นทุนการผลิตสูง
ในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการในช่วงแรกๆ ผู้ประกอบการประสบปัญหากับต้นทุนการผลิตสูงขึ้น และมีการแก้ปัญหาโดยนำระบบ LEAN มาปรับใช้ในกระบวนการผลิต แต่ไม่สามารถปรับปรุงได้ทุกอย่าง และยังมีศักยภาพไม่มากพอที่จะบริหารจัดการ
2. แรงงาน
2.1 การขาดแคลนแรงงาน
ผู้ประกอบการได้แจ้งว่า อุตสาหกรรมการผลิตประสบปัญหากับการขาดแคลน
แรงงานทั้งที่มีฝีมือและไร้ฝีมือ และได้แก้ปัญหาโดยได้นำเทคโนโลยีหรือเครื่องจักรมาใช้ทดแทนบางส่วน เนื่องจากต้นทุนของเทคโนโลยีหรือเครื่องจักรมีราคาค่อนข้างสูง
2.2 การเคลื่อนย้ายแรงงาน
เนื่องจากขีดความสามารถของแต่ละบริษัทในจังหวัดลำพูนไม่เท่ากัน มีโรงงานที่อยู่นอกเขตและในเขตพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ซึ่งมีบางโรงงานเป็นโรงงานขนาดใหญ่หรือเป็นของบริษัทต่างชาติให้ค่าจ้างและสวัสดิการที่มากกว่า ทำให้แรงงานเคลื่อนย้ายไปทำงานในเขตนิคมอุตสาหกรรม อย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะการเคลื่อนย้ายแรงงานของอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งเป็นปัญหาหลักสำหรับโรงงานหรือบริษัทที่อยู่นอกนิคมอุตสาหกรรม
2.3 การปรับขึ้นค่าจ้างแรงงาน 300 บาท
จากการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงาน 300 บาท ได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตในจังหวัดลำพูนเป็นอย่างมาก เนื่องจากก่อนหน้าที่จะมีการปรับค่าจ้าง พนักงานที่จ้างรายวันได้รับค่าจ้างไม่ถึง 300 บาท ต่อวัน ซึ่งมีผลกระทบดังนี้
- การปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานต่อคุณภาพงาน ก่อนที่จะมีการปรับค่าจ้าง 300 บาท ในบางอุตสาหกรรมหรือบางบริษัทมีการจ้างตามจำนวนชิ้นงานทำให้ได้ชิ้นงานจำนวนมากและมีคุณภาพ เมื่อปรับค่าจ้างเป็น 300 บาท ทางบริษัทต้องแบกรับภาระค่าจ้างเพิ่มขึ้น และไม่ได้งานที่มี
คุณภาพงาน เนื่องจากพนักงานคิดว่าไม่จำเป็นต้องทำงานตามจำนวนชิ้นงานที่กำหนด ซึ่งอย่างน้อยก็จะได้รับค่าจ้างวันละ 300 บาท
- มีบางบริษัทหรือโรงงานอุตสาหกรรมการผลิตบางแห่ง ประสบกับปัญหาต้นทุนค่าจ้างแรงงานสูงขึ้น ทำให้บริษัทมีแผนการย้ายฐานการผลิตไปผลิตในประเทศเพื่อนบ้าน เช่นเวียดนาม กัมพูชา
3. การขนส่ง
3.1 ต้นทุนทางด้านการขนส่งสูง
ผู้ประกอบการประสบกับปัญหาค่าขนส่งที่มีราคาสูง ซึ่งส่งผลต่อต้นทุนการผลิตในภาพรวมสูงขึ้นด้วยเช่นกัน ผู้ประกอบการบางรายได้ใช้วัตถุดิบจากบริษัทแม่ที่อยู่ในกรุงเทพเพื่อมาผลิตที่ลำพูน เช่น บริษัทผู้ผลิตยา
4. ข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการต่อภาครัฐ
4.1 นโยบายภาครัฐ
ผู้ประกอบการมีความเห็นว่า ก่อนที่รัฐบาลจะประกาศใช้นโยบายหรือมาตรการต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการบริหารการจัดการของธุรกิจหรืออุตสาหกรรม โดยมีความต้องการให้ภาครัฐวางแผนในระยะยาวและควรแจ้งให้ทราบล่วงหน้า เพื่อให้ผู้ประกอบการได้เตรียมความพร้อมต่อการใช้นโยบายของทางภาครัฐ
4.2 โครงการกองทุนตั้งตัวได้
สำหรับโครงการกองทุนตั้งตัวได้ ที่กำลังประชาสัมพันธ์อยู่ ทางกลุ่มผู้ประกอบการ SME จังหวัดลำพูน มีความเห็นว่ามีโอกาสน้อยมากที่โครงการจะประสบความสำเร็จ เนื่องจากเห็นว่า การที่นักศึกษาจะเขียนแผนธุรกิจและการดำเนินธุรกิจได้จริงๆ นั้น เป็นไปได้ยากมาก เพราะจากประสบการณ์ของผู้ประกอบการ การดำเนินธุรกิจในช่วง 3 – 5 ปีแรก ยังไม่เข้มแข็งเท่าไรนักและไม่เกิดประโยชน์ต่อสังคม จึงอยากให้ภาครัฐพิจารณาแนวทางการดำเนินงานของกองทุนใหม่อีกครั้ง
ดาวน์โหลดเอกสาร PDF : คลิก